วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ข้อคิดจากเบียร์ โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ข้อคิดจากเบียร์:

หลายวันก่อนมีข่าวเด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกจับเพราะชอบดื่มเบียร์ จึงผสมเบียร์เอง ดื่มเอง และขายเอง

จริงอยู่ครับที่เขาทำผิดกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แต่กฎหมายนี้ตราขึ้นใช้บังคับมาหลายสิบปีแล้ว ไม่รู้น้องคนนี้เกิดหรือยังตอนกฎหมายออกใช้ แต่มันยิ่งทำให้ผมคิดว่ากฎหมายนี้และกฎหมายอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บังคับอยู่ทุกวันนี้ มันเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ และม้นสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตหรือไม่

ว่ากันเฉพาะเรื่องเบียร์นี้ก็แล้วกัน ถ้ามองในแง่ศาสนา เราก็ไม่ควรอนุญาตให้มีการผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดองของเมาหรือสิ่งเสพย์ติดใด ๆ เลย นั่นก็ถูก เพราะเราเป็นสังคมพุทธ แต่การที่กฎหมายเปิดช่องให้มีการขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ได้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลและรัฐสภาซึ่งก็คือผู้แทนปวงชนชาวไทยนั่นแหละ เห็นว่าควรอะลุ้มอล่วยให้ทำได้ แต่รัฐจะควบคุมนะ ใครจะผลิตหรือจำหน่ายต้องมาขออนุญาตกันก่อน

ปัญหาของเรื่องนี้จึงน่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการอนุมัติอนุญาตว่าจะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหนเพียงใด ถ้าเข้มข้นมาก ก็ขออนุญาตยาก ถ้าเข้มข้นน้อย ก็ขออนุญาตไม่ยากนัก

ถามว่าจะเข้มข้นมากหรือน้อยดี อันนี้เป็นเรื่องทางนโยบายที่ฝ่ายบริหารต้องพิจารณาอย่างรอบด้านครับ อย่างเรื่องเบียร์นี้ส่วนใหญ่ก็จะมองในเรื่องสุขภาพและความสงบเรียบร้อย เพราะดื่มเบียร์มาก ๆ นี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แถมเมาแล้วก็อาจเป็นอันตรายต่อทั้งตนเองและคนอื่น โดยเฉพาะเมาแล้วขับ  การขาดสติแล้วไปทำร้ายคนอื่น เพราะคนไทยดื่มไม่เหมือนใครในโลก ไม่รู้ใครสั่งใครสอนกันมาว่าดื่มแล้วต้องเมา ไม่เมาไม่เลิก! ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยเราส่วนใหญ่ไม่มีวินัยในตัวเอง

ผู้เขียนมีอีกมุมมองหนึ่งที่จะนำเสนอครับ นั่นคือมุมมองด้านวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

ในแง่วัฒนธรรม ผู้เขียนพบว่าประเทศต่าง ๆ ที่มิได้ใช้กฎหมายศาสนานั้นต่างมีวัฒนธรรมในการดื่มไวน์ เบียร์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลักทั้งสิ้น เอาที่คนไทยชอบไปเที่ยวกันอย่างญี่ปุ่นนี่แหละ จะเห็นว่าเขาดื่มเบียร์กันเป็นวัฒนธรรมกันทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการในการขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ของเขาจึงผ่อนปรนมาก เพราะการผลิตเบียร์มันมีสูตรลับของมันเองเหมือนสูตรขนมสูตรอาหารนั่นแหละ ผู้ผลิตแต่ละรายมีกลเม็ดเด็ดพรายในการปรุงเบียร์ต่างกัน มันเป็นวัฒนธรรมทางอาหาร เมื่อคิดได้ดังนี้ เขาก็อนุญาตให้ SMEs ที่ชอบทางนี้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ได้ง่าย เมื่อเราไปญี่ปุ่น จะเห็นเบียร์ท้องถิ่นพรืดไปหมด นี่ยังไม่พูดถึงเหล้าสาเกหรือเหล้าขาวบ้านเรานะครับ ที่นั่นหลากหลายมาก มีประกวดประขันกันในฐานะสินค้าท้องถิ่น มีเรื่องราวของตัวเอง มีมูลค่าเพิ่มของตัวเอง ส่วนบ้านเราอย่าว่าแต่เบียร์เลย เหล้าพื้นบ้านต่าง ๆ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละถิ่นดูจะสาบสูญไปหมดแล้ว น่าเสียดายมาก

ถ้ามองในมุมของคนค้าคนขาย ไม่ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็ได้ ยิ่งขออนุญาตยาก ยิ่งผูกขาดง่ายนะครับ และถ้าเอาเรื่องขออนุญาตเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปผูกกับโทษอาญาด้วย ยิ่งทำให้คนคิดทำมาค้าขายอกสั่นขวัญเสียมิใช่น้อยนะครับ

ถ้าน้องคนผลิตเบียร์คนนี้เป็นคนญี่ปุ่น ป่านนี้เขาอาจ Start up ธุรกิจของเขาได้แล้ว ไม่ต้องรอเป็นลูกจ้างใครให้เมื่อยตุ้ม แถมยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรผลิตเบียร์ของเขาเองได้ไม่ยากนัก ธุรกิจของเขาจะสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับอีกหลายคน สร้างงานสร้างรายได้ให้กับกิจการต่อเนื่องได้อีกมิใช่น้อย

ในทัศนะผม เราคงต้องมากำหนดนิตินโยบาย หรือนโยบายทางกฎหมาย (legal policy) กันให้ชัดเจนก่อนว่าจะไปทางไหน อย่างไร แล้วไปรื้อกฎหมายในตู้ให้สอดคล้องกับนโยบายนี้อย่างจริงจัง มีตัวชี้วัดชัดเจน ใครไม่ทำหรือทำไม่ได้ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่มีแต่กฎหมายเพิ่มแต่อำนาจของหน่วยงาน หรือขยายหน่วยงาน จนทุกวันนี้ดูเหมือนว่าทุกกรมจะมีกฎหมายเป็นของตัวเองแล้ว ซึ่งนั่นยิ่งจะทำให้การบูรณาการการทำงานของฝ่ายบริหารมีปัญหาหนักขึ้นไปอีก

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ มีผลใช้บังคับแล้วนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น