วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

ปัญหาอาคารชุดในอนาคต โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ปัญหาอาคารชุดในอนาคต:

หลังจากรถไฟฟ้าเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อาคารชุดหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "คอนโด" ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามแนวรถไฟฟ้า นัยว่าเป็นไลฟ์สไตล์ของคนเน็กเจ็น และเป็น "โอกาส" ของทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคที่จะได้มีที่พักอาศัยที่เดินทางสะดวก ดอกเห็ดนี้กำลังบานสะพรั่งในปี 2560 และแลดูสวยงามและทันสมัยเพราะยังใหม่ ๆ อยู่

ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายจึงไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวทางด้านการพัฒนาเมืองมากนัก แต่เคยทำงานร้องทุกข์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ตอนนี้เป็นศาลปกครองไปแล้ว จำได้ว่าเมื่อครั้งคอนโดเริ่มต้นใหม่ ๆ มีการร้องทุกข์ว่าคอนโดแห่งหนึ่งขวางทางแดดทางลมของเพิ่อนบ้าน บ้านช่องเขาจากที่ปลอดโปร่งโล่งสบายกลับกลายเป็นอุดอู้ แทนที่จะมีแดดส่องกลับมีแสงสะท้อนจากกระจกอาคารส่องเข้าบ้านแทน ให้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง แถมที่ตรงนั้นเป็นถนนเล็ก ๆ เพราะเดิมเป็นชุมชนเล็ก ๆ ของคนมีสตางค์ พอมีคอนโดเข้ามา มีคนเข้าอยู่นับร้อย ผู้พักอาศัยต่างมีรถห้องละคัน เกิดปัญหารถติดและควันพิษตามมา คนเก่าคนแก่เป็นโรคภูมิแพ้กันเป็นแถว ๆ เขาจึงมาร้องทุกข์

ผู้เขียนจำไม่ได้จริง ๆ ว่าเรื่องนี้จบยังไงตามประสาคนมีอายุ แต่พอเห็นคอนโดผุดขึ้นเยอะ ๆ ก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาทุกทีไป เลยเกิดความสงสัยว่า การที่เรามีคอนโดเยอะ ๆ และขึ้นที่ไหนก็ได้ง่าย ๆ นี่ มันส่งผลกระทบถึง "เมือง" ไหม โดยเฉพาะ "คนเมือง"

เอาง่าย ๆ อย่างทิศทางแดดทิศทางลมก็แล้วกัน แดดคงไม่เท่าไร มีตึกเยอะ ๆ แดดคงไม่ร้อนมาก แต่ตึกเป็นปูน มันย่อมอมความร้อน ถ้ามันอมมาก ๆ เข้า ความร้อนของเมืองคงสูงขึ้น แต่ไม่รู้สูงขึ้นเท่าไร ไม่รู้มีคนบันทึกไว้ไหม (ฝรั่งจะมีตัวเลขแบบนี้) เมื่อร้อนขึ้น ก็ต้องเปิดแอร์ เมื่อเปิดแอร์ก็ต้องใช้ไฟ เราต้องเสียพลังงานมากขึ้น ส่วนจะมากขึ้นเท่าไรก็ไม่รู้ได้ เพราะไม่เคยเห็นตัวเลข

ส่วนเรื่องลมนั้น แน่นอนว่าถ้ามีอาคารสูงมาก ๆ โดยไม่มีการวางแผนที่ดี ระบบระบายอากาศ (ventilation) ของเมืองต้องมีปัญหาแน่ ๆ เพราะเดิมเมืองไม่มีสภาพเช่นนี้ มีแต่สวนแต่ป่า แต่ไม่รู้ว่าว่ามันส่งผลอะไรบ้าง ไม่รู้มีใครเคยศึกษาไว้ไหม

นี่ผู้เขียนยังทำเฉย ๆ โดยมองผ่านความเพียงพอของระบบสาธารณูปโภค ระบบกำจัดขยะ ระบบการขนส่งมวลชน วิถีชุมชน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันนะ แต่ถ้าลองคิดจากเรื่องร้องทุกข์ที่ผู้เขียนพูดถึงข้างต้น ผู้เขียนว่ามันต้องกระทบมากแน่ ๆ

นอกจากนี้ ถ้าคิดถึงวัฏฏสงสารที่ประกอบด้วยเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นธรรมดาของสรรพสิ่ง ผู้เขียนจึงตั้งสมมุติฐานตามมาอีกว่า วันหนึ่งในอนาคตที่อาคารเหล่านี้หมดอายุการใช้งานตามหลักวิศวกรรม จะก่อให้เกิดปัญหาชวนปวดหัวในอนาคต  ปัญหาที่ว่านี้คือการแบ่งกรรมสิทธิ์ว่าจะแบ่งกันอย่างไร คงวุ่นวายน่าดู เพราะวันนี้พ่อแม่ซื้อไว้ แต่กว่าอาคารจะหมดอายุก็คงถึงรุ่นหลาน ทายาทจึงคงมีมากกว่าหนึ่งคนต่อห้อง แล้วจะแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไรถ้าทายาทเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายไป คงอลหม่านพิลึก ทั้งนี้เพราะเราใข้ระบบกรรมสิทธิ์ในห้องชุด การเลิกอาคารชุดที่จะทำให้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดเป็นอันยกเลิกไปก็ต้องใช้คะแนนเสียงเอกฉันท์(ตามกฎหมายปัจจุบัน) ซึ่งทางปฏิบัติคงเกิดขึ้นได้ยากมากกกกก ดูอย่างแฟลตดินแดงก็ได้ นั่นแค่สิทธิการเช่านะ ยังวุ่นวายขนาด

ดังนั้น ถ้ามาตรการตามกฎหมายเลิกอาคารชุดไม่ได้ ก็คงต้องปล่อยให้มันค้างเติ่งอยู่เช่นนั้น ให้มันผุพังล้มหายไปตามกาล กลายเป็นภาวะอุดจาดของเมืองในอนาคต ยิ่งถ้าสิ่งของจากอาคารผุพังเหล่านี้ตกหล่นไปก่อความเสียหายแก่คนอื่น ปัญหาจะยิ่งรุงรังมากขึ้น และแน่นอนว่าคนที่ต้องรับภาระเหล่านี้ก็คงหนีไม่พ้นลูกหลานของเรานั่นเองที่จะต้องไปจัดการเก็บกวาดต่อไปตามยถา

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาเมืองในยุคที่ผ่านมาที่ขาดการมองแบบองค์รวม และไม่คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

มันเป็นปัญหาที่เราทุกคนคงต้องหาทางแก้ไว้ให้ลูกหลานด้วยนะครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น