วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย (Trial in absentia) โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

                   การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยเป็นประเด็นทางกฎหมายที่มีการถกเถียงกันอยู่มากในช่วงนี้ว่าทำได้หรือไม่ได้ บ้างก็ว่าขัดหลักสากล ทำไม่ได้ บ้างก็ว่าทำได้ จนชาวบ้านร้านช่องเกิดความพิศวงงวยงงสงสัยไปตาม ๆ กันเพราะกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น ร่ำเรียนมาคนละตำราหรืออย่างไร แล้วตกลงหลักกฎหมายในเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่

                   ผู้เขียนเองก็สงสัยไม่น้อยจึงแอบลองไปสืบค้นดู พบว่าเหตุแห่งปัญหาน่าจะอยู่ที่ความของข้อ 14 (3) (ดี) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Right (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีครับ ข้อ 14 (3) (ดี)[1] เขาเขียนว่า ในคดีอาญานั้น บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าตน (To be tried in his presence, …)  แน่นอนครับ ถ้าอ่านเพียงเท่านี้ก็อาจเข้าใจไปว่าการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยนั้นทำไม่ได้

                   แต่เมื่อผู้เขียนไปสืบเสาะลึก ๆ ลงไป พบว่ามันมีข้อยกเว้นอยู่ครับว่าการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย (trial in absentia) นั้น “ทำได้”

                   ข้อยกเว้นที่ว่านี้เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงครับ บางกรณีจำเลยไม่ยอมมาศาลเพราะเห็นว่าตัวเองไม่ผิด จะต้องมาศาลทำไม เอากะพ่อซี แต่คนแบบนี้มีน้อยมากครับ ส่วนใหญ่แล้วจำเลยจะหลบหนีครับ ถามว่าหนีไปไหน ก็หนีไปไหนก็ได้ที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลนะซีครับ เขากลัวว่าศาลจะพิพากษาลงโทษ หนีไปก่อนเลยโดยเฉพาะพวกมีสตางค์ หมดอายุความแล้วค่อยกลับมา คราวนี้ตำรวจก็จับตัวมาเอาผิดไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความไปแล้ว เรียกว่าใช้เทคนิคทางกฎหมายเอาตัวรอดว่างั้นเถอะ เรื่องคนมีเงินหนีคดีนี่เองที่ทำให้เกิดวลีอมตะในทุกประเทศว่า "คุกมีไว้ขังคนจน" เพราะคนจนไม่มีตังค์จะหนีไปไหนไกล ๆ ตำรวจจึงตามจับได้ทุกที ครั้นจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความก็ไม่ได้อีก เพราะถ้าไม่กำหนดอายุความ นาน ๆ ไปพยานบุคคลก็จะทยอยล้มหายตายจากบ้าง ลืมบ้าง พยานเอกสารชำรุดหรือสูญหายบ้าง การหาความจริงจึงเป็นไปไม่ได้อีก ประเดี๋ยวลงโทษผิดคนก็จะยุ่งกันใหญ่ บาปด้วย

                   ดังนั้น กฎหมายของหลายประเทศจึงมีข้อยกเว้นให้พิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยได้ครับ แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Committee) เองเขาก็ยอมรับข้อยกเว้นนี้ครับ

                   ในคดี Mbenge v Zaire (1977)[2] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลวางหลักว่า ตามข้อ 14 (3) ของ ICCPR นั้นบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดี (อาญา) ต่อหน้าตน และมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเองหรือผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเป็นผู้เลือก ถ้ากฎหมายให้หลักประกันสิทธิเช่นว่านี้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธที่จะใช้สิทธิดังกล่าวเอง เช่น ไม่ยอมมาศาล หรือหลบหนีคดีไปเอง เป็นต้น การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยก็สามารถทำได้ถ้าได้มีการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหา กับวันที่และสถานที่ที่จะดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาให้จำเลยทราบอย่างชัดเจนแล้ว เปิดโอกาสให้จำเลยมีเวลาเตรียมตัวต่อสู้คดีพอสมควร และเปิดโอกาสให้จำเลยได้มาศาลเพื่อต่อสู้คดี และต่อมาในคดี Maleki v Italy (1996)[3] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลก็ยืนยันหลักดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

                   นอกจากนี้ ในปี 2007 (2553) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลได้ออก General Comment ฉบับที่ 32 ยืนยันหลักการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน และเพิ่มเติมด้วยว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญา หากมีข้อเท็จจริงใหม่อันแสดงให้เห็นชัดเจน (conclusively) ว่าการดำเนินกระบวนยุติธรรมนั้นดำเนินไปโดยไม่ชอบ (miscarriage of justice) บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นใหม่ (ex novo) ได้ตามข้อ 14 (6) ของ ICCPR  ดังนั้น หากมีการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญาลับหลังจำเลย ถ้าผู้ต้องคำพิพากษามีข้อเท็จจริงใหม่อันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการดำเนินกระบวนยุติธรรมนั้นดำเนินไปโดยไม่ชอบ เขาย่อมมีสิทธิขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นใหม่ได้

                   กล่าวโดยสรุป การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย (trial in absentia) นั้น “ทำได้” และเป็น "หลักสากล" ... แต่จะทำหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ... ถ้าจะทำ ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างไรก็ได้ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมันอยู่ดังกล่าวแล้วในคดี Mbenge v Zaire และคดี Maleki v Italy รวมทั้ง General Comment ฉบับที่ 32 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลดังกล่าวข้างต้น

                   เป็นอันว่าเราเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ





[1]3. In the determination of any criminal charge against him, everyone shall be entitled to the following minimum guarantees, in full equality:
            (a) To be informed promptly and in detail in a language which he understands of the nature and cause of the charge against him;
            (b) To have adequate time and facilities for the preparation of his defence and to communicate with counsel of his own choosing;
            (c) To be tried without undue delay;
            (d) To be tried in his presence, and to defend himself in person or through legal assistance of his own choosing; to be informed, if he does not have legal assistance, of this right; and to have legal assistance assigned to him, in any case where the interests of justice so require, and without payment by him in any such case if he does not have sufficient means to pay for it;
            (e) To examine, or have examined, the witnesses against him and to obtain the attendance and examination of witnesses on his behalf under the same conditions as witnesses against him;
            (f) To have the free assistance of an interpreter if he cannot understand or speak the language used in court;
            (g) Not to be compelled to testify against himself or to confess guilt.
            (Emphasis added)
[2]Communication No. 16/1977, Mbenge v Zaire, para. 14.1
[3]Communication No. 699/1996, Maleki v Italy, para. 9.3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น