วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดย นายณรัณ โพธิ์พัฒนชัย


นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ
กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

๑. บทนำ

                    ในปัจจุบัน ได้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) รูปแบบ Cryptocurrency (เรียกกันว่าเงินดิจิทัล เงินเสมือน หรือเงินคริปโท) และ Digital Token (เหรียญโทเคน โทเคนดิจิทัล หรือดิจิทัลโทเคน) ซึ่งเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องดำเนินการผ่านกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์อันมีความซับซ้อนมาใช้ในการประกอบธุรกิจและกระทำกิจกรรมทางการเงินและเศรษฐกิจอย่างแพร่หลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไป หรือแม้กระทั่งผู้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเอง ยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการและการดำเนินการของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนและความเสียหายต่อทรัพย์สินส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจได้

                  สินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีลักษณะทางกายภาพ ธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดจะกระทำผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และทำการประมวลผลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและยืนยันการทำธุรกรรมนั้น ๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมโยงกันในเครือข่าย  วิธีการบันทึกผลแบบกระจายส่วนนี้ (distributed ledger) ต่างจากระบบการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือผู้ให้บริการทางการเงินอื่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นการรวมศูนย์ข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ (server) โดยมีหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบการบริหารจัดการข้อมูลดังกล่าว  ในขณะนี้ มีสินทรัพย์ดิจิทัลสองประเภทที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ใช้เพื่อการเก็งกำไร การแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการและการระดมทุน กล่าวคือ Cryptocurrency ซึ่งมีราคาหรือมูลค่าซึ่งถือเอาได้ และใช้เป็นสื่อกลางเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล เช่น Bitcoin, Ether, Ripple, หรือ Litecoin และ Digital Token ซึ่งเป็นหน่วยแสดงสิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการ เช่น JFIN Coin หรือ Tuk Tuk Pass-A เป็นต้น

๒. การประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล

                    โดยที่ Cryptocurrency และ Digital Token แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในสิทธิ หน้าที่ และผลประโยชน์ที่ผู้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ พึงได้รับ ประกอบกับกระแสและความเชื่อในระดับราคาซื้อขายของสินทรัพย์ดิจิทัลบางชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มมีผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะให้บริการและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ระดมทุน ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยอาจสรุปโครงสร้างการประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยได้ดังนี้

                   ประเภทของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดดำเนินการเป็นประเภทแรกในประเทศไทยคือธุรกิจผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency dealer) ให้บริการรับซื้อและขาย Cryptocurrency โดยหากำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขายเป็นหลัก (อาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการด้วยก็ได้) ในลักษณะเดียวกับผู้ค้าเงินตราต่างประเทศ (Forex dealer) ในประเทศไทยมีผู้ค้า Cryptocurrency รายใหญ่สองรายคือ Coins.co.th และ Bitcoin.co.th ทั้งสองรายให้บริการซื้อขาย Cryptocurrency ชนิด Bitcoin เป็นหลัก และมีบริการโอนเงินเข้าและออกจากบัญชีธนาคารของลูกค้าไปสู่กระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) ของผู้ให้บริการซึ่งมีทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศสมัครเป็นสมาชิกและมีบัญชีซื้อขายส่วนตัวรวมกันกว่าหนึ่งล้านบัญชี โดยจุดประสงค์หลักของการใช้บริการเพื่อการโอนเงินข้ามประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์

                   ผู้ที่ประสงค์จะถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุนมักนำเงินบาทมาแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น Cryptocurrency หรือ Digital Token จากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Electronic trading platform) ซึ่งให้การอำนวยความสะดวกในการจับคู่ผู้ที่ต้องการซื้อและผู้ที่ต้องการขายสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดเดียวกัน โดยเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการเป็นการค้าปกติ ในลักษณะเทียบเคียงได้กับตลาดหลักทรัพย์ (stock exchange)  แม้ว่าในปัจจุบัน นักลงทุนเป็นผู้ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ด้วยตัวเอง แต่แนวโน้มของการพัฒนาตลาดซื้อขายสินทรัพย์ลำดับรองบ่งชี้ว่าในอนาคตอาจมีธุรกิจประเภทนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital asset broker) ให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนเพื่อซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ผู้อื่นด้วย  สำหรับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีอยู่หลายราย แต่มีสองรายหลักที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศคือ Bx.in.th และ Tdax.com โดยมีปริมาณซื้อขายรวมรายวันประมาณ ๑๕๐ ล้านบาท และ ๕๐ ล้านบาทตามลำดับ

                   นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดลำดับรอง ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ในตลาดแรก (primary market) กล่าวคือ การซื้อ Digital token ออกใหม่ที่มีการเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (Initial Coin Offerings หรือ ICO) โดยผู้เสนอขายอาจนำ Cryptocurrency หรือเงินบาทที่ได้จากการระดมทุนไปพัฒนาสินค้า โครงการ หรือบริการ โดยเสนอผลประโยชน์ในสินค้า โครงการ บริการ หรือสิทธิอื่นใดต่อผู้ลงทุนเป็นการตอบแทน การทำ ICO อาจเทียบเคียงลักษณะได้กับการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อประชาชน (Initial Public Offering หรือ IPO)  เพื่อให้การเสนอขาย Digital token ต่อประชาชนได้มาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ ผู้เสนอขายจะทำการเสนอขายผ่านผู้ให้บริการคัดกรอง (ICO portal) โดยต้องมีการส่งข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสนอขาย การดำเนินกิจการ โครงการ หรือสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้ลงทุนพิจารณา (white paper) ซึ่งอาจเทียบเคียงลักษณะได้กับหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ (prospectus)  ในขณะนี้ มีการเสนอขาย Digital Token โดยบริษัทไปแล้วอย่างน้อยสองรายคือ OmiseGo (โอมิเซะโกะ) ซึ่งเป็นการระดมทุนจำนวน ๒๕ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (หรือประมาณ 800 ล้านบาท) เพื่อสร้างระบบชำระเงิน โอนเงินและการให้บริการธุรกรรมทางธนาคารอื่น ๆ ผ่านระบบบล็อคเชน อย่างไรก็ตามการออกเสนอขายเหรียญ OMG ของ OmiseGo เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ไม่ได้กระทำผ่าน ICO Portal ของไทยและกว่าร้อยละ ๙๐ ของปริมาณการซื้อขายเหรียญ OMG เกิดขึ้นในต่างประเทศ  นอกจากนั้นยังมีบริษัทเจเวนเจอส์ (J Ventures Co. Ltd.) ซึ่งทำการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (JFin Coin) จำนวน 100 ล้านหน่วย ในราคาหน่วยละ 20 เซนต์ (US cents) รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท และได้ทำการเปิดจองล่วงหน้าผ่านระบบคัดกรองของผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขาย Tdax เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยแสดงความจำนงเสนอขาย Digital Token อีก ๕-๖ รายภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้

                   อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลอีกหลายประเภท เช่น การประกอบกิจการสร้างโรงงานถลุงบิทคอยน์หรือ Cryptocurrency ประเภทอื่นใดที่ต้องใช้การถลุงเพื่อให้ได้มาซึ่ง Cryptocurrency สกุลนั้น ๆ การให้บริการจัดเก็บและบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล (Custodian หรือ digital wallet) ซึ่งอาจเป็นบริการหนึ่งที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีหรือเป็นผู้ให้บริการแยกต่างหากเฉพาะการจัดเก็บและการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้ และระบบการชำระเงินด้วย Cryptocurrency เป็นต้น  อย่างไรก็ดี ในประเทศไทย ธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่กระทำกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้น การเก็งกำไรมูลค่าและราคาของ Cryptocurrency และ Digital token ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ในตลาดแรกจากผู้เสนอขาย Digital token ผ่านกระบวนการ ICO หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรอง  แนวทางการควบคุมและกำกับจึงต้องเป็นไปเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล การรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และป้องกันภัยอันตรายในทรัพย์สินของประชาชนจากการโจรกรรมทางคอมพิวเตอร์  เพื่อเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงแนวทางการกำกับควบคุมดังกล่าวที่มีการปฏิบัติใช้อยู่ในปัจจุบัน ในตอนต่อไปกองพัฒนากฎหมายขอเสนอข้อมูลเบื้องต้นเปรียบเทียบแนวทางการกำกับและควบคุมในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น